Hulu กลายเป็นบริษัทเนื้อหอมที่สุดในขณะนี้ หลังจากมีข่าวยาฮูและไมโครซอฟท์สนใจซื้อ ในที่สุดก็มีข่าวของ "กูเกิล" ออกมาอย่างที่ทุกคนคาดไว้
หนังสือพิมพ์ LA Times รายงานข้อมูลจากวงในว่า กูเกิลกำลังเจรจาซื้อ Hulu อยู่เช่นกัน โดย LA Times ประเมินว่ากูเกิลต้องการ Hulu มาเสริมทัพวิดีโอออนไลน์ที่รายการมาจากบริษัทสื่อใหญ่ๆ ซึ่งตรงนี้ยังเป็นจุดอ่อนของกูเกิลอยู่ (เพราะ YouTube เลือกแนวทางวิดีโอจากผู้ผลิตอิสระ)
บริษัท Hoya ผู้ผลิตเลนส์รายใหญ่ของญี่ปุ่นกล่าววันนี้ว่าบริษัทมีแผนจะขายธุรกิจกล้องในแบรนด์ Pentax ให้กับ Ricoh ด้วยมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านเยน ซึ่งดีลน่าจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมปีนี้ โดย Ricoh หวังว่าการซื้อ Pentax นี้จะช่วยเสริมกลุ่มสินค้า SLR ที่มีราคาและกำไรดีกว่ากล้อง Compact ได้
Hoya ซื้อ Pentax มาในปี 2007 แต่ต้องการส่วนธุรกิจสินค้าการแพทย์มากกว่าจึงตัดสินใจขายส่วนธุรกิจกล้องออกไป ปัจจุบัน Pentax มีส่วนการตลาดกล้อง 1.5% อยู่ในอันดับที่ 10
ที่มา: Reuters
เว็บเครือข่ายสังคม Myspace ประกาศวันนี้ว่าบริษัทได้ขายกิจการให้กับ Specific Media บริษัทจัดการด้านโฆษณา โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่า แต่สื่อคาดกันว่าดีลนี้จบลงที่ราว 35 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ News Corp เจ้าของเดิมประกาศไว้ว่าต้องการขาย Myspace ออกไป ถึงแม้จะซื้อเว็บนี้มาด้วยราคาสูงถึง 580 ล้านดอลลาร์ก็ตาม โดยสิ่งที่จะเกิดกับ Myspace หลังจากนี้คือการปรับลดค่าใช้จ่ายภายใน การปรับลดพนักงานลง 50% และปลดซีอีโอ Mike Jones โดยเขาจะส่งมอบงานเป็นเวลา 2 เดือน
วงการเว็บ social commerce ในไทยเกิดความคึกคักทันทีเมื่อ LivingSocial เว็บ group-buying รายใหญ่ในอเมริกาที่เป็นรองแค่ Groupon ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการ Ensogo เว็บขายดีลรายใหญ่ที่สุดในไทยแล้ว โดยการเข้าซื้อนี้ประกอบด้วยเว็บขายดีล Ensogo ในไทย ฟิลิปปินส์, DealKeren เว็บขายดีลในเครือ Ensogo ที่อินโดนีเซีย และ GoNabit เว็บขายดีลในโซนตะวันออกกลาง
เป็นข่าวเมื่อต้นเดือนครับ ผมพลาดข่าวนี้ไปได้ไงไม่รู้ แต่ไหนๆ มีข่าวอัพเดตก็เอามาลงเสียหน่อยครับ
eBay ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซ เข้าซื้อกิจการบริษัท Magento ซึ่งทำซอฟต์แวร์อีคอมเมิร์ซแบบโอเพนซอร์ส (บ้านเราก็นิยมใช้กันเยอะอยู่) โดย eBay เคยซื้อหุ้นบางส่วนของ Magento ตั้งแต่ปี 2010 แล้ว แต่รอบนี้คือซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท
มูลค่าของการซื้อกิจการไม่เปิดเผย แต่ TechCrunch รายงานว่า 180 ล้านดอลลาร์ ส่วน Magento มีพนักงาน 290 คน
TechCrunch อ้างแหล่งข่าวหลายแหล่งว่า PopCap บริษัทผู้ผลิตเกมยอดนิยมอย่าง Bejeweled หรือ Plants vs Zombies กำลังอยู่ในขั้นตอนการถูกซื้อกิจการด้วยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัทที่มาซื้อน่าจะเป็น EA หรือ Electronic Arts ซึ่งนับเป็นราคาที่สูงมากเพราะ PopCap มีรายได้ในปีล่าสุดประมาณ 100 ล้านดอลลาร์
เหตุผลของการซื้อที่อาจอธิบายได้คือ EA ยังไม่มีเกมบนแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือ หรือเกมบนเครือข่ายสังคมที่ฮิตจริงๆ แม้บริษัทจะซื้อ Playfish ไปเมื่อสองปีก่อนก็ตาม การซื้อ PopCap ที่มีเกมฮิตอยู่มากในหลายแพลตฟอร์มแล้วจึงเป็นทางลัดที่น่าสนใจ
มีข่าวว่าผู้ถือหุ้น Hulu บริการดูรายการทีวีผ่านเน็ตที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในสหรัฐ เตรียมขายกิจการให้บริษัทสักแห่งที่ยังไม่ระบุนาม
Hulu เป็นบริการที่ร่วมลงขันกันโดยสื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา 3 รายคือ Disney, NBC Universal และ Fox (ซึ่ง Fox มี News Corp เป็นเจ้าของอีกทีหนึ่ง) ตัวบริการได้รับความนิยมสูง แต่ก็มีปัญหาเรื่องรายได้ไม่เข้าเป้า, ปัญหาการขอสิทธินำเนื้อหามาฉายบน Hulu, สื่อสามเจ้าทะเลาะกันเองว่าควรดำเนินธุรกิจ Hulu อย่างไร และปัญหาเรื่องคนหนีไปดูรายการทีวีบน Hulu จนทีวีแบบปกติรายได้ตกลง
RIM ที่กำลังอยู่ในภาวะเสือลำบาก หุ้นร่วงกระจาย ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าอาจเป็นเป้าหมายถูกซื้อกิจการจากบริษัทอื่นๆ เพราะราคาถูกมากเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั่นเอง
เมื่อ 3 ปีก่อน หุ้นของ RIM เคยขึ้นไปสูงถึง 80 ดอลลาร์ต่อหุ้น มีมูลค่าตามตลาดหุ้น 83 พันล้านดอลลาร์ แต่ตอนนี้หุ้นของ RIM เหลือเพียง 25.89 ดอลลาร์ต่อหุ้น ทำให้เป็นโอกาสทองของบริษัทที่คิดจะซื้อ RIM เพราะต่อให้ซื้อแพงกว่าราคาหุ้นปัจจุบัน (อาจจะตั้งราคาสัก 40 ดอลลาร์) ก็ยังถือว่าซื้อได้ถูกอยู่ดี
กูเกิลเข้าซื้อกิจการบริษัท SageTV ซึ่งเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อัดรายการทีวี (DVR) ที่ใช้ร่วมกับการ์ด TV tuner บนพีซี
SageTV เปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2002 ส่วนการขายกิจการให้กูเกิลรอบนี้ บริษัทบอกเพียงว่าการเข้าร่วมกูเกิลจะทำให้ฐานผู้ใช้งานกว้างขึ้นอีกมาก และยังไม่ประกาศข้อมูลอื่นใดในตอนนี้
ถึงกูเกิลจะไม่พูดอะไร แต่ทุกคนก็น่าจะคาดเดาได้ว่าฟีเจอร์ของ SageTV จะถูกรวมเข้าไปใน Google TV ที่ยังขาดฟีเจอร์การอัดรายการทีวีอยู่
ดูเหมือนใครๆ ก็อยากจะซื้อโนเกียเหลือเกิน ก่อนหน้านี้ก็เป็นข่าวกับไมโครซอฟท์จนซีอีโอต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่มีมูล ล่าสุดมีข่าวลือว่าผู้สนใจซื้อโนเกียรายล่าสุดก็คือซัมซุงนี่เอง
สาเหตุของข่าวลือนี้น่าจะมาจากการที่ราคาหุ้นโนเกียปรับตัวลดลง 46% ซึ่งด้วยราคาที่ลดต่ำลงมากทำให้เป็นที่สนใจของบริษัทที่จะเข้าซื้อกิจการนั่นเอง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก Canalys มองว่าข่าวนี้ไม่ค่อยสมเหตุสมผล เพราะซัมซุงไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไรนักจากการซื้อโนเกียที่เสียส่วนแบ่งการตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งโฆษกของโนเกียและซัมซุงต่างปฏิเสธที่จะให้ความเห็นสำหรับข่าวลือนี้
Research In Motion (RIM) ประกาศวันนี้ว่าบริษัทได้เข้าซื้อ Scoreloop บริษัทสัญชาติเยอรมันผู้ผลิตแพลตฟอร์มสำหรับสร้างเกมเกมแนวเครือข่ายสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่า ซึ่งทีมนักพัฒนาของ Scoreloop จะเข้ามาพัฒนาเครื่องมือสำหรับการพัฒนาเกมให้กับเครือข่ายสังคมของ RIM ซึ่งอิงบนแพลตฟอร์ม BBM
ตัวอย่างเกมของ Scoreloop ก็มีเช่น Doodle Train, Geared, Jewels และ Hungry Shark
อย่างไรก็ตาม Scoreloop ประกาศว่าจะยังคงพัฒนาเกมบน iOS และ Android ต่อไป โดยส่วนของเกมบน BlackBerry นั้นจะแยกส่วนไปต่างหาก
หลังจากลือกันมาก่อนหน้านี้ วันนี้ทั้งทาง TweetDeck และ Twitter ก็ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า TweetDeck จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Twitter
Twitter คาดหวังว่าการซื้อ TweetDeck ครั้งนี้จะช่วยตอบสนองการใช้งาน Twitter ให้กับผู้ใช้งานที่ต้องการประสิทธิภาพในการใช้ Twitter มากขึ้น (power users) อีกทั้ง TweetDeck ก็มีคุณสมบัติรองรับการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกเหนือจากแค่ Twitter อีกด้วย
รายงานข่าวระบุว่าดีลนี้จบลงที่มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์
การซื้อกิจการ Skype ของไมโครซอฟท์มีมูลค่าสูงถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ตั้งบริษัทมา (ก่อนหน้านี้คือซื้อบริษัทโฆษณา aQuantive มูลค่า 6 พันล้านในปี 2007)
ความเห็นจากนักวิเคราะห์ทางการเงินและการลงทุนก็ไปในทิศทางเดียวกันหมดว่า "ซื้อ Skype น่ะดี แต่ซื้อแพงเกินไปมาก" และไมโครซอฟท์ต้องตอบคำถามผู้ถือหุ้นให้ได้ว่าการซื้อครั้งนี้ มีผลดีอย่างไรต่อฐานะทางการเงินของบริษัทบ้าง
บริษัท NVIDIA ประกาศเข้าซื้อ Icera ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิพสำหรับโทรศัพท์มือถือด้วยเงินสดมูลค่า 367 ล้านเหรียญสหรัฐ เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่า NVIDIA พร้อมจะเข้ารบกับ Qualcomm และ Intel ในสมรภูมิชิพสำหรับโทรศัพท์ smartphone แล้ว
หลายคนคงรู้จักเกมควบคุมเครื่องบินลงจอด Flight Control ซึ่งได้รับความนิยมบนมือถือหลายแพลตฟอร์ม (แม้จะโดน Angry Birds บดบังรัศมีในฐานะเกมมือถือที่ดังที่สุดไปก็ตาม)
วันนี้บริษัท Firemint ต้นสังกัด โดนยักษ์ใหญ่แห่งวงการเกมอย่าง EA ซื้อกิจการไปเรียบร้อยแล้ว เหตุผลก็คงชัดเจนในตัวว่า EA ต้องการรุกตลาดเกมมือถือนั่นเอง
Firemint สร้างชื่อมาจากเกม Flight Control แต่จริงๆ แล้วบริษัทเปิดมาตั้งแต่ปี 1999 และรับงานพัฒนาเกมมือถือให้ EA มาหลายเกมแล้ว
ก่อนหน้านี้ไม่นาน EA เพิ่งซื้อบริษัท Mobile Post Production ซึ่งเชี่ยวชาญการพอร์ตและการทำ localization ของเกมมือถือไปเช่นกัน
บริษัทเนื้อหอมอย่าง TweetDeck ที่เคยเป็นข่าวว่าโดน UberSocial และ Twitter Inc. แย่งกันขอซื้อ ดูท่าจะลงเอยกับ Twitter Inc. แล้ว
เว็บไซต์ TechCrunch ได้อ้างแหล่งข่าววงในว่า Twitter Inc. เจรจาซื้อ TweetDeck เสร็จเรียบร้อย และจะประกาศอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ตามข่าวบอกว่ามูลค่าของ TweetDeck อยู่ที่ 40-50 ล้านดอลลาร์ โดยจ่ายเป็นทั้งเงินสดและหุ้นของ Twitter
บริษัทที่เหลืออยู่ในตอนนี้ก็ Seesmic สินะ
ที่มา - TechCrunch
ตามที่ประกาศไปแล้วเมื่อปลายปีก่อนว่าบริษัท Attachmate จะเข้าซื้อ Novell เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) การซื้อกิจการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดย Novell (รหัสหลักทรัพย์ NOVL) จะถูกถอนชื่อออกจากตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ
Attachmate เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้าน terminal server เน้นลูกค้าองค์กร ถึงแม้ชื่อจะไม่ค่อยดังแต่ก็ทำธุรกิจมา 30 ปีแล้ว การซื้อกิจการ Novell ครั้งนี้มีมูลค่า 2.2 พันล้านดอลลาร์
ตัวบริษัท Novell จะยังบริหารงานต่อไปใต้แบรนด์เดิม ส่วน SUSE จะถูกแยกออกมาเป็นบริษัทลูกอีกแห่ง ใต้การบริหารของ Attachmate Group ทั้งคู่
The Wall Street Journal รายงานว่าซัมซุงมีแผนจะขายธุรกิจฮาร์ดดิสก์ออกไปเพื่อนำเงินสดไปลงทุนในธุรกิจกลุ่มอื่น โดยซัมซุงเล็งขายธุรกิจส่วนนี้ออกไปในมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ แต่ดีลอาจจบลงที่มูลค่าไม่เกิน 1 พันล้านดอลลาร์ โดยซีเกทน่าจะเป็นผู้ซื้อกิจการส่วนนี้ไปจากซัมซุง
ถ้าหากดีลนี้เป็นตามข่าว จะทำให้ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ในตลาดเหลือเพียงแค่ 3 รายคือ โตชิบา ซีเกท และ Western Digital (ที่เพิ่งซื้อฮิตาชิไป) โดยจะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 10%, 40% และ 50% ตามลำดับ
ปัจจุบันซัมซุงมีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจฮาร์ดดิสก์ประมาณ 11% และยังเป็นส่วนธุรกิจที่ขาดทุนของซัมซุง
ข่าวนี้ต่อจาก กูเกิลซื้อบริษัทซอฟต์แวร์ขายตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ITA Software ซึ่งสร้างประเด็นให้เว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบินหลายแห่งที่ใช้ซอฟต์แวร์ของ ITA รวมตัวกันประท้วง เพราะกลัวโดนกูเกิลกีดกันไม่ให้ใช้ซอฟต์แวร์ ITA อีกต่อไป
สถานการณ์ล่าสุดคือกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ทำข้อตกลงกับกูเกิล โดยอนุมัติให้กูเกิลซื้อกิจการ ITA ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าลูกค้าเดิมของ ITA จะต้องได้ใช้ซอฟต์แวร์ต่อไป ซึ่งกูเกิลก็ได้ตอบสนองเงื่อนไขนี้โดยการันตีว่าลูกค้าเดิมของ ITA จะได้ใช้ซอฟต์แวร์ไปถึงปี 2016
ในโอกาสเดียวกัน กูเกิลก็ประกาศชัดเจนว่าจะรวมทีมของ ITA เข้ามาเพื่อสร้าง "exciting new flight search tools" ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
Texas Instrument หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า TI ประกาศเข้าซื้อกิจการผู้ผลิตชิปคู่แข่ง National Semiconductor คิดเป็นมูลค่า 6.5 พันล้านดอลลาร์
ทั้งสองบริษัทเป็นผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ที่อยู่มายาวนาน TI เชี่ยวชาญการผลิตชิปที่ใช้ในอุปกรณ์ไร้สาย ส่วน National Semiconductor เชี่ยวชาญชิปแอนะล็อก การควบกิจการครั้งนี้จะทำให้ TI มีผลิตภัณฑ์ในมือครบเครื่องมากขึ้น และ National Semiconductor ยังมีโรงงานผลิตชิปในสหรัฐอีกหลายแห่งที่ TI ใช้ประโยชน์ได้มาก
เป็นข่าวการควบกิจการระหว่างบริษัทลูกของ EMC ด้วยกันครับ เมื่อยักษ์แห่งวงการ virtualization อย่าง VMware ประกาศดูดกิจการ (จะเรียกว่าซื้อก็คงไม่ได้) บริษัท Mozy ซึ่งเป็นลูกของ EMC เหมือนกัน
Mozy เป็นบริษัทสำรองข้อมูลออนไลน์ (ลักษณะเดียวกับ Dropbox) ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ 1 ล้านราย และลูกค้าส่วนมากเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ทีมงานเดิมของ Mozy จะกลายเป็นพนักงานของ VMware และเทคโนโลยีหลายๆ อย่างของ Mozy จะถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ของ VMware ต่อไป ส่วนบริการสำรองข้อมูลของ Mozy ก็ยังอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ต่อเนื่องจากข่าวเบอร์สองซื้อเบอร์สี่ AT&T บรรลุข้อตกลงซื้อ T-Mobile USA มูลค่า 39 พันล้านดอลลาร์ โอเปอเรเตอร์เบอร์สามของสหรัฐอย่าง Sprint ซึ่งจะกลายเป็น "ผู้ประกอบการรายเล็ก" ทันทีถ้าการซื้อกิจการเสร็จสิ้น ได้ออกมาคัดค้านแล้ว
ในแถลงการณ์ของ Sprint ได้กระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐขัดขวางการซื้อกิจการครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าจะลดการแข่งขันในตลาด และเกิดผลเสียต่อผู้บริโภคในภาพรวม Sprint ยังได้อ้างถึงกิจการโทรศัพท์พื้นฐานของสหรัฐในอดีตที่เคยถูกผูกขาดโดย AT&T (ในทางนิตินัยแล้วเป็นคนละบริษัทกับ AT&T ในปัจจุบัน) ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อตลาด จนศาลสหรัฐต้องสั่งแยกบริษัท AT&T เป็นบริษัทย่อยๆ จำนวน 7 บริษัทในยุค 80s
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา Facebook ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการ Snaptu ด้วยมูลค่าประมาณ 60-70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจาก Snaptu ได้เพิ่มคุณสมบัติการเข้าถึง Facebook ในแอปพลิเคชั่นของตัวเองในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง Facebook ได้ตกลงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับทาง Snaptu เพื่อเพิ่มคุณสมบัติดังกล่าว ลงบนโทรศัพท์มือถือพื้นฐานทั่วไป (feature phones) ก่อนหน้านี้
โดยหลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้ว ทีมงานของ Snaptu จะเข้าไปพัฒนาแอปพลิเคชั่น Facebook ที่เน้นไปยังโทรศัพท์มือถือพื้นฐานทั่วไปซึ่งจะมีผลทำให้ Facebook สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งาน ที่ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วไปที่ยังมีอยู่จำนวนมากในขณะนี้
วงการสื่อเก็บข้อมูลถึงคราวสะเทือนอีกครั้ง เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Western Digital เข้าซื้อกิจการ Hitachi GST (ย่อมาจาก Hitachi Global Storage Technologies) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Hitachi ที่ผลิตฮาร์ดดิสก์ (ซึ่งเคยเป็นฝ่ายฮาร์ดดิสก์ของ IBM มาอีกทีหนึ่ง)
การเข้าซื้อครั้งนี้มีมูลค่า 4.25 พันล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเงินสด 3.5 พันล้านดอลลาร์ ที่เหลือเป็นหุ้นของ Western Digital
Disney เข้าซื้อกิจการบริษัท Rocketpack ซึ่งมีผลิตภัณฑ์คือ Rocket Engine เครื่องมือสร้างเกมด้วย HTML5 ล้วนๆ
Rocket Engine ใช้เพียง JavaScript และ CSS นอกจากนั้นตัว Rocket Engine ยังมาพร้อมกับโปรแกรมสร้างเกมผ่านเบราว์เซอร์ เกมที่สร้างขึ้นมาสามารถทำงานได้บนทุกอุปกรณ์ที่มีเบราว์เซอร์ ตั้งแต่ netbook ยัน iPhone ดูวิดีโอได้ที่ท้ายข่าวครับ
ที่มา TechCrunch