Tesla ประกาศการเข้าซื้อบริษัท Grohmann Engineering ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรีและเซลล์เชื้อเพลิงด้วยเครื่องจักร สัญชาติเยอรมัน และเปลี่ยนชื่อเป็น Tesla Grohmann Automation โดย Klaus Grohmann ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Grohmann Engineering จะยังคงทำหน้าที่เดิมต่อไปภายใต้ Tesla Grohman Automation
Tesla ให้เหตุผลของการเข้าซื้อครั้งนี้ว่า ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ให้ได้ 500,000 คันต่อปีภาย 2018 (ปีนี้อยู่ที่ราว 80,000 คัน) จึงต้องการนำเทคโนโลยีและ know-how ด้านการผลิตด้วยเครื่องจักรของ Grohmann มาเสริม ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มความเร็วและคุณภาพในการผลิต พร้อมลดต้นทุนต่อคันลงด้วย
ความพยายามซื้อ NetSuite ของ Oracle ประสบความสำเร็จจนได้ หลังจากที่ตอนแรก ผู้ถือหุ้นเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการขาย แต่ในที่สุด Oracle ก็สามารถรวมเสียงโหวตจากผู้ถือหุ้นรายอื่นได้ 53.21% (รวมเสียงโหวตทั้งหมด 76.39%) และปิดดีลกันเรียบร้อย
มูลค่าการซื้อกิจการครั้งนี้ 9 พันล้านดอลลาร์ จากนี้ไป Oracle จะเข้ากระบวนการทางเอกสารของการซื้อขายกิจการตามปกติ การซื้อ NetSuite จะทำให้ Oracle มีซอฟต์แวร์ด้าน ERP แข็งแกร่งขึ้น สามารถต่อกรกับคู่แข่งอย่าง Salesforce และ Microsoft ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ซอฟต์แวร์องค์กรกำลังปรับตัวสู่คลาวด์ และ Oracle ยังปรับตัวได้ไม่ดีนัก
Intel ประกาศเข้าซื้อ VOKE สตาร์ทอัพด้านการถ่ายทอดสด Virtual Reality เพื่อนำมาเสริมทัพกับ Intel Sports หน่วยธุรกิจใหม่ของ Intel ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการกีฬา โดยดีลนี้ไม่มีการเปิดเผยมูลค่า
VOKE ก่อตั้งในปี 2004 ในแคลิฟอร์เนีย โดยเทคโนโลยี TrueVR ที่ VOKE เชี่ยวชาญคือกล้องรอบทิศทาง (stereoscope) และระบบถ่ายทอดสดแบบ VR, โซลูชันการถ่ายทอดสดและการรองรับหลายแพลตฟอร์ม
Spotify ได้เข้าซื้อบริษัท Preact ซึ่งเป็นบริษัททำแพลตฟอร์มคลาวด์และบริการสำหรับบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับบริการบอกรับสมาชิก โดยบริษัทนี้ก่อตั้งเมื่อมี 2012 มีสำนักงานอยู่ในซานฟรานซิสโก
สำหรับในมุมของ Spotify แล้ว ระบบเบื้องหลังของบริการถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากทุกวันนี้มีผู้บอกรับสมาชิกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสมาชิกแบบ freemium หรือผู้ใช้แบบฟรีมีโฆษณา ซึ่งเป็นผู้ใช้ส่วนใหญ่ของ Spotify ที่จำนวนกว่า 60 ล้านคน
การเข้าซื้อ Preact นั้นถือว่าเสร็จสมบูรณ์แล้ว และตอนนี้ทีม Preact จะทำงานข้ามไปมาระหว่างซานฟรานซิสโกและนิวยอร์ค
ที่มา - TechCrunch
Lazada ประกาศการเข้าซื้อ Redmart สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซจากสิงคโปร์ ที่เน้นไปที่สินค้าจำพวกอุปโภค-บริโภค (Grocery) โดยเว็บไซต์ TechCrunch รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในว่าดีลนี้มีมูลค่าอยู่ที่ราว 30-40 ล้านเหรียญสหรัฐ
Redmart เป็นเจ้าแรกที่ทำ e-commerce ที่เน้นไปที่สินค้ากลุ่มอุปโภค-บริโภค ซึ่งจุดเด่นของ Redmart อยู่ที่ความรวดเร็วในการส่งสินค้าและจำนวนสินค้าที่มีให้เลือก โดยในระยะหลังนี้ Redmart กำลังเผชิญปัญหาการเงิน และพยายามจะระดมทุนเพิ่มรวมถึงหาบริษัทที่จะมาซื้อกิจการ ก่อนที่จะมาจบลงที่ Lazada
Lazada ระบุว่าการเข้าซื้อจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสนี้ ขณะที่ Redmart ก็จะยังคงดำเนินกิจการของตนเองต่อไปเช่นเดิม
CenturyLink บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (เดิมเป็นบริษัทโทรศัพท์ แต่ภายหลังก็มีธุรกิจโทรคมนาคมครบวงจร รวมถึงทีวีและศูนย์ข้อมูล) ประกาศซื้อกิจการ Level 3 Communications บริษัทอินเทอร์เน็ตและ CDN เพื่อนร่วมชาติ ด้วยมูลค่า 34 พันล้านดอลลาร์
ทั้งสองบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ โดย CenturyLink จะจ่ายเงินสดและหุ้นของตัวเองให้กับผู้ถือหุ้นของ Level 3 การรวมตัวกันครั้งนี้ส่งผลให้ CenturyLink กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ และมีผลิตภัณฑ์หลากหลายตอบโจทย์ลูกค้าฝั่งองค์กรมากขึ้น นอกจากนี้ Level 3 ยังเป็นเจ้าของเครือข่ายไฟเบอร์ขนาดใหญ่ทั้งบนบกและใต้ทะเล ซึ่งจะเข้ามาเสริมให้เครือข่ายไฟเบอร์ของ CenturyLink กว้างไกลมากขึ้นในระดับโลก
Verizon ประกาศเข้าซื้อธุรกิจสตาร์ทอัพบริการสมัครสมาชิกวิดีโอแบบสั้น Vessel ส่งผลให้บริการของ Vessel ต้องหยุดลง และพนักงานของบริษัทก็ถ่ายโอนเป็นของ Verizon ยกเว้น Jason Kilar ซีอีโอไม่ได้ไปต่อ (Kilar เคยเป็นซีอีโอของ Hulu มาก่อน)
เงื่อนไขข้อตกลงการเข้าซื้อยังไม่ได้เปิดเผยแต่คาดว่าจะรู้กันภายในเดือนนี้ ทาง Verizon ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Recode ว่า ทางบริษัทก็กำลังวางแผนที่จะผสานเทคโนโลยีทางโซเชียลของ Vessel เข้ากับยุทธศาสตร์ของ Verizon นอกจากนี้ยังอาจนำเอาบริการคอนเทนต์ที่เปิดให้ใช้ฟรี หรือ Go90 ที่ Vessel คิดจะปรับเป็นบริการมีค่าใช้จ่ายเข้ามาด้วย
ส่วนสมาชิกรายปีของ Vessel จะได้รับเงินคืน และไม่คิดค่าบริการเดือนตุลาคม
Qualcomm ประกาศซื้อกิจการ NXP Semiconductors ด้วยมูลค่ารวมราว 38,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากรวมหนี้สินของ NXP ด้วย ดีลนี้จะมีมูลค่า 47,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เป็นการซื้อกิจการในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา
Qualcomm ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของโลก ระบุว่าการซื้อ NXP จะทำให้บริษัทเข้าสู่ตลาดใหม่ได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจาก NXP เป็นผู้นำและมีฐานลูกค้าในกลุ่มชิปสำหรับยานยนต์ ระบบความปลอดภัย NFC และ Internet of Things ที่เป็นโอกาสใหม่ของบริษัท
Groupon รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3/2016ิ มีรายได้เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อนเป็น 720.5 ล้านดอลลาร์ สุทธิแล้วขาดทุน 35.8 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม Groupon ระบุว่าในตลาดอเมริกาเหนือ ยอดการซื้อนั้นเพิ่มขึ้นถึง 10% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตดีที่สุดในรอบ 3 ปี
ในรายงานผลประกอบการนี้ Groupon ยังเปิดเผยว่าบริษัทจะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ LivingSocial เว็บดีลที่ถือเป็นคู่แข่งกันมาตั้งแต่ธุรกิจเว็บขายดีลเริ่มต้น โดยคาดว่าดีลจะสิ้นสุดภายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 ด้วยมูลค่าที่ไม่เปิดเผยเพราะไม่ได้สูงจนต้องรายงาน
LivingSocial มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ Amazon และช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาทางธุรกิจจนลดโฟกัสเหลือแค่อเมริกาเหนือ
ที่มา: TechCrunch
จากข่าวลือเมื่อวานนี้ วันนี้ AT&T ประกาศข่าวการซื้อกิจการ Time Warner อย่างเป็นทางการ ด้วยมูลค่าทั้งหมด 108.7 พันล้านดอลลาร์ (3.8 ล้านล้านบาท)
เป้าหมายของการซื้อกิจการครั้งนี้คือควบรวมบริษัทเครือข่ายกับบริษัทคอนเทนต์เข้าด้วยกัน โดยใจความสำคัญคือประโยคว่า "The future of video is mobile and the future of mobile is video" ปัจจุบัน Time Warner เป็นบริษัทสื่อรายใหญ่ มี 3 ฝ่ายย่อยคือช่องทีวีพรีเมียม HBO, สตูดิโอภาพยนตร์ Warner Bros. และ Turner ซึ่งมีช่องเคเบิลทีวีหลายช่อง ที่ดังหน่อยคือ CNN และ Cartoon Network
ข่าวอย่างไม่เป็นทางการของอภิมหาดีลอันใหม่ระหว่าง AT&T โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐ กับ Time Warner บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่เจ้าของ Warner Bros. และช่อง HBO, CNN
Reuters รายงานข่าวว่า AT&T บรรลุข้อตกลงซื้อ Time Warner ด้วยมูลค่าสูงถึง 85 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะถือเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของปีนี้
ช่วงหลัง โอเปอเรเตอร์ในสหรัฐหันมาสนใจทำธุรกิจสื่อผ่านการซื้อกิจการเยอะขึ้น ปีที่แล้ว AT&T ซื้อบริษัททีวีดาวเทียม DirecTV ด้วยมูลค่า 48.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนคู่แข่งรายสำคัญ Verizon ก็ซื้อทั้ง AOL และ Yahoo! สื่อออนไลน์รายใหญ่
Rachel King แห่ง WSJ เปิดเผยเอกสารที่หลุดจากอีเมลของ Colin Powell อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรากฏในเว็บไซต์ DCLeaks โดยมีสไลด์ที่ใช้นำเสนอในการประชุมบอร์ดบริหาร Salesforce เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สไลด์หน้าหนึ่งระบุว่าเป็น "บริษัทที่น่าสนใจซื้อกิจการ - อยู่ในตลาดหุ้น" โดยมีอยู่ทั้งหมด 14 บริษัท
Colin Powell มีตำแหน่งเป็นบอร์ดบริหารของ Salesforce ดังนั้นเขาจึงมีเอกสารดังกล่าว ซึ่ง 14 บริษัทที่อยู่ในความสนใจของ Salesforce ตามสไลด์นั้นประกอบด้วย Adobe, LinkedIn, Workday, ServiceNow, NetSuite, Tableau, Pega, Qlik, Veeva, Box, Demandware, Zendesk, Marketo และ HubSpot ซึ่งไม่ปรากฏ Twitter อยู่ตามที่มีข่าวในช่วงที่ผ่านมา (และ Salesforce ก็ออกมาปฏิเสธแล้ว)
โฆษกของ Salesforce ชี้แจงว่าเอกสารนี้เป็นการนำเสนอภาพกว้างๆ ของบริษัทในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้แปลว่า Salesforce ต้องการซื้อบริษัทเหล่านั้นจริง รวมทั้งการที่ปรากฏชื่อ Adobe ซึ่งมีมูลค่าบริษัทใหญ่กว่า Salesforce ก็ใส่เข้ามาเพื่อเปรียบเทียบกันเท่านั้น โดยมีสไลด์อีกหน้า พูดถึงบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มีโอกาสเข้ามาแข่งขันซื้อกิจการรวมทั้ง Adobe, Apple, Google ตลอดจนสามยักษ์บริษัทจีน Baidu, Alibaba และ Tencent
ที่มา: WSJ
Razer ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เกมมิ่งชื่อดัง ประกาศซื้อทรัพย์สินเกือบทั้งหมดของ THX บริษัทเทคโนโลยีระบบเสียง โดยไม่เปิดเผยมูลค่า
THX ก่อตั้งขึ้นในปี 1983 โดย George Lucas เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านเสียงให้ภาพยนตร์เรื่อง Star Wars และแยกตัวมาจากบริษัทแม่ Lucasfilm ในปี 2002
หลังการซื้อขายกิจการครั้งนี้ THX จะยังบริหารงานเป็นอิสระจาก Razer โดยธุรกิจหลักของ THX ในการรับรองคุณภาพเสียง (certification) ให้กับบริษัทต่างๆ จะยังดำเนินไปตามปกติ แต่จะเพิ่มสายธุรกิจด้านการรับรองคุณภาพอุปกรณ์เสริมยุคใหม่ๆ อย่างหูฟัง ลำโพงไร้สาย กล่องเซ็ตท็อป เข้ามาด้วย
จากข่าวลือ Twitter เตรียมขายกิจการ แต่ก็ตามมาด้วยข่าวว่า ผู้สนใจซื้อหลายราย ตัดสินใจไม่ซื้อแล้ว เช่น Google, Disney ส่งผลให้ตัวเต็งกลายเป็น Salesforce แทน
ล่าสุด Marc Benioff ซีอีโอของ Salesforce ออกมาพูดชัดเจนแล้วว่าไม่สนใจซื้อ ด้วยเหตุผลว่า Twitter ไม่เหมาะกับของ Salesforce ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งวัฒนธรรมองค์กร ราคา และปัจจัยอื่นๆ
ข่าวนี้ส่งผลให้หุ้น Twitter ตกลง 7% เพราะบรรดาตัวเต็งที่เคยมีชื่อออกมาว่าสนใจซื้อ ต่างก็ปฏิเสธกันหมด เรื่องนี้จึงเป็นงานหนักของ Twitter ที่ต้องหาผู้ซื้อให้ได้
เมื่อเดือนกรกฎาคม Oracle เข้าซื้อ NetSuite บริษัทซอฟต์แวร์ ERP บนคลาวด์ มูลค่า 9.3 พันล้านดอลลาร์ แต่ดูเหมือนเรื่องจะไม่จบง่ายๆ ซะแล้ว เพราะผู้ถือหุ้นเสียงส่วนใหญ่ของ NetSuite กลับไม่ต้องการขายหุ้นให้กับ Oracle
เนื่องจาก NetSuite เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ Oracle ต้องทำข้อเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป (tender offer) ซึ่งบริษัทก็เสนอซื้อมาแล้วที่ราคาหุ้นละ 109 ดอลลาร์ (แพงกว่าราคาตลาดตอนที่เสนอซื้อ 19%) แต่กลับรวบรวมหุ้นได้ไม่พอกับที่ต้องการ (50% ของผู้ถือหุ้นรายย่อย) ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเพียง 11.2% เท่านั้นที่รับคำเสนอซื้อ
มีรายงานว่า Verizon ได้เสนอขอปรับราคาในการซื้อธุรกิจหลัก Yahoo! จากเดิมที่อยู่ราว 4.83 พันล้านดอลลาร์ โดยขอลดมูลค่าลง 1 พันล้านดอลลาร์ หลังมีข่าวบัญชีผู้ใช้หลุดออกไป และข่าวซอฟต์แวร์สแกนอีเมลให้รัฐบาลสหรัฐฯ
แหล่งข่าวใน Verizon บอกว่า Tim Armstong ผู้บริหาร AOL (ซึ่ง Verizon ซื้อกิจการมา) ได้ติดต่อไปยังผู้บริหาร Yahoo! หลายคนหลังมีข่าวออกมาเพื่อขอลดราคาเข้าซื้อกิจการ เนื่องจาก Yahoo! ไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ผู้ซื้อกิจการจำเป็นต้องทราบให้เพียงพอ
ที่มา: New York Post
เว็บไซต์ The Straits Times รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในว่า Lenovo กำลังพูดคุยอยู่กับ Fujitsu ในเรื่องการควบรวมกิจการคอมพิวเตอร์พีซี โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขและราคา และดีลนี้คาดว่าน่าจะตกลงกันได้ภายในเดือนนี้
ขณะที่หนังสือพิมพ์ Nikkei ระบุว่าดีลนี้ฝ่ายพัฒนา ผลิตและวางแผนพีซีของ Fujitsu จะถูกควบรวมเข้ากับบริษัทที่ Fujitsu ตั้งร่วมขึ้นมากับ NEC ซึ่งพนักงานราว 2,000 คนของ Fujitsu ก็น่าจะถูกย้ายมาทำงานกับ Lenovo-NEC ด้วย
ที่มา - The Straits Times
eBay ได้เซ็นสัญญาเข้าซื้อบริษัท Corrigon จากอิสราเอลอย่างเป็นทางการ โดยเป็นบริษัทผู้ทำเทคโนโลยีด้านการระบุภาพ ซึ่งจากรายงานเผยว่าจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในตลาดขายสินค้าออนไลน์ของ eBay ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเป็นการจัดกลุ่มสินค้าให้แม่นยำมากขึ้น
Corrigon เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้าน image processing และ computer vision ก่อตั้งในปี 2008 โดย Avinoam Omer และ Eniav Itamar โดยบริษัทนี้ได้รับการสนับสนุน QPrize จาก Qualcomm Ventures ในปี 2011 ด้วย
เมื่อการเข้าซื้อบริษัทเสร็จสิ้น ทีมงานของ Corrigon จะยังคงอยู่ในอิสราเอลต่อไป แต่จะขึ้นกับศูนย์พัฒนาของ eBay ที่ Netanya พร้อมกับ SalesPredict ที่เพิ่งซื้อมาก่อนหน้านี้
Dag Kittlaus และ Adam Cheyer สองผู้พัฒนา Siri ขายบริษัทให้แอปเปิลในปี 2010, ลาออกเมื่อปี 2012 และเปิดตัวบริษัทใหม่ Viv เมื่อต้นปีนี้ โดยโฆษณาว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ของ Viv ฉลาดกว่าปัญญาประดิษฐ์ในท้องตลาด (รวมถึง Siri) มาก
วันนี้ ซัมซุงเข้าซื้อกิจการ Viv Labs เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำแพลตฟอร์ม AI ของ Viv ไปสร้างเป็นบริการสั่งงานด้วยเสียงพูดแบบใหม่ๆ ต่อไป ทางทีม Viv จะยังแยกการทำงานเป็นอิสระจากซัมซุง แต่จะทำงานร่วมกับแผนกสมาร์ทโฟนของซัมซุงอย่างใกล้ชิด
มีรายงานข่าวล่าสุดจาก Financial Times ว่า ตอนนี้ Spotify กำลังพูดคุยถึงการเข้าซื้อ SoundCloud โดยการซื้อครั้งนี้น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 700 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบัน SoundCloud นั้นมีเพลงกว่า 125 ล้านเพลง ซึ่งถ้ามองในมุมของ Spotify ถือว่าเป็นคลังเพลงที่ใหญ่มาก และนอกจากจะเป็นการซื้อคลังเพลงแล้วยังเป็นการลดคู่แข่งในบริการสตรีมมิ่งลงได้อีกด้วย รวมถึงความสามารถด้าน social ของ SoundCloud ก็น่าจะช่วยเสริม Spotify ได้
มีรายงานออกมาว่า Twitter ได้เริ่มการเจรจาเพื่อขายกิจการ โดยมีการติดต่อพูดคุยกับหลายบริษัทแล้ว อาทิ Salesforce.com, กูเกิล ตลอดจนอีกหลายบริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาช่วยประเมินด้วย
ปัจจุบัน Twitter มีผู้ใช้งาน 313 ล้านคนทั่วโลก และในช่วงหลังประสบปัญหาจำนวนผู้ใช้งานเติบโตช้ามาก ส่งผลให้บริษัทโฆษณาไม่นิยมลงโฆษณากับ Twitter เพราะเข้าถึงคนได้ไม่กว้างเท่า Facebook
ยังมีการเชื่อมโยงว่า Salesforce.com น่าจะมีความสนใจ Twitter มากที่สุดในบรรดาผู้ซื้อ โดยสังเกตว่า Vala Afshar หัวหน้าฝ่ายดิจิทัลของบริษัท ได้ทวีตข้อความว่า Twitter มีจุดเด่นอย่างไร (แต่เขาก็บอกถัดมาว่าเป็นการแสดงความสนใจส่วนตัว) ทั้งนี้ตัวแทนของทั้ง Twitter, Salesforce.com และกูเกิล ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับข่าวดังกล่าว
ราคาหุ้น Twitter ตอบรับกระแสข่าวนี้ ทำให้มูลค่ากิจการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 16,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ Twitter มีเงินสดในมือ 3,600 ล้านดอลลาร์ และหนี้สินรวม 1,600 ล้านดอลลาร์
ที่มา: The New York Times
แอปเปิลไล่ซื้อบริษัทด้าน machine learning อย่างเงียบๆ เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวซื้อบริษัท Turi มาแล้วครั้งหนึ่ง ล่าสุดมีข่าวว่าแอปเปิลซื้อบริษัท Tuplejump มาอีกราย
บริษัท Tuplejump ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และตอนนี้ก็ปิดเว็บไซต์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่จากข้อมูลในอดีต Tuplejump พัฒนาระบบฐานข้อมูลโอเพนซอร์สชื่อ FiloDB ที่ใช้สำหรับงานด้านวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่ง TechCrunch อ้างแหล่งข่าววงในว่าแอปเปิลสนใจเทคโนโลยีตัวนี้ เลยตัดสินใจซื้อ Tuplejump เพื่อดึงทีมงานเข้ามาเป็นพนักงาน
Samsung Electronics อนุมัติการขายธุรกิจเครื่องพิมพ์ (Printing Business Unit) ให้กับ HP โดยซัมซุงจะแยกธุรกิจเครื่องพิมพ์เป็นบริษัทลูกในวันที่ 1 พฤศจิกายน แล้วขายบริษัทลูกนี้ให้ HP ในขั้นถัดไป หลังจากนั้น ซัมซุงจะใช้บริการเครื่องพิมพ์จาก HP แต่จะยังทำตลาดเครื่องพิมพ์ในเกาหลีใต้ด้วยแบรนด์ซัมซุงต่อไป
หน่วยธุรกิจเครื่องพิมพ์ของซัมซุงมีพนักงาน 6,000 คน มีโรงงานผลิตเครื่องพิมพ์ในจีน และมีสำนักงานขาย 50 แห่งทั่วโลก ทำรายได้ปีละ 2 ล้านล้านวอน (ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท) มูลค่าการขายกิจการครั้งนี้ 1.05 พันล้านดอลลาร์ (3.6 หมื่นล้านบาท) น่าจะใช้เวลาอีก 1 ปีกว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น
กูเกิลประกาศซื้อบริษัท Apigee ซึ่งให้บริการสร้าง API ให้กับภาคธุรกิจ รูปแบบของ Apigee คือเข้าไปช่วยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยากเปิด API ให้คนภายนอกเข้าถึงข้อมูลภายในองค์กร สามารถสร้าง API ที่เสถียรและบริหารจัดการได้ง่าย
ตัวอย่างลูกค้าของ Apigee คือร้านค้าปลีก Walgreens ที่เปิด API ให้แอพภายนอกสามารถส่งภาพเข้าไปพิมพ์ที่ร้าน Walgreens สาขาใดก็ได้ (ลูกค้าส่งภาพจากแอพแล้วไปรับที่สาขาได้เลย) และ Prescription API ที่ให้ลูกค้าสามารถซื้อยาเพิ่มผ่านแอพได้ ส่วนลูกค้ารายอื่นๆ ของ Apigee ได้แก่ AT&T, Burberry, BBC เป็นต้น
บริการสร้าง API ของ Apigee จะเข้ามารวมกับ Google Cloud Platform
การซื้อกิจการ McAfee ของอินเทลตั้งแต่ปี 2010 อาจไม่ใช่การซื้อกิจการที่ประสบความสำเร็จมากนัก จนเมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวลือว่าอินเทลสนใจขาย McAfee ออกไป