Atlassian บริษัทเจ้าของแอปสำหรับการสื่อสารของนักพัฒนา (Jira, Trello, Confluence) ประกาศซื้อกิจการ Rewatch แอปผู้ช่วยสำหรับการประชุมออนไลน์ที่ทำงานด้วย AI โดยดีลนี้ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าที่เข้าซื้อ
เครื่องมือของ Rewatch จะถูกนำมารวมเป็นส่วนหนึ่งของบริการวิดีโอแชทแบบไม่เรียลไทม์ Loom ที่ Atlassian ซื้อกิจการเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจะช่วยบันทึกการประชุมอัตโนมัติ, ทำบันทึกการประชุม, ส่งคำเชิญในการประชุมถัดไปตามเนื้อหาที่พูดคุย รวมทั้งสร้าง Knowledge ไว้บนแพลตฟอร์มอย่าง Jira หรือ Confluence ให้คนอื่นที่ไม่ได้เข้าประชุมสามารถค้นหาได้
Zomato แพลตฟอร์มเดลิเวอรีรายใหญ่ของอินเดีย ประกาศซื้อกิจการธุรกิจขายบัตรจากบริษัทฟินเทค Paytm ด้วยมูลค่า 244.1 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง Zomato บอกว่าเป็นการขยายธุรกิจจากเดลิเวอรีมาสู่การทำธุรกิจอื่นให้กับลูกค้า รวมทั้งเพิ่มโอกาสของแอปใหม่ District ที่จะต่อยอดไปสู่บริการใหม่ ๆ
ธุรกิจขายบัตรของ Paytm นั้นมีทั้งส่วนของบัตรชมภาพยนตร์, บัตรชมการแข่งขันกีฬา และบัตรชมการแสดงสดต่าง ๆ พนักงานของ Paytm ที่อยู่ส่วนนี้จะย้ายไปอยู่กับ Zomato โดย Paytm ให้เหตุผลของการขายธุรกิจนี้ว่าเพื่อโฟกัสที่ธุรกิจหลักคือบริการด้านการเงิน
ปัจจุบันธุรกิจขายบัตรชมภาพยนตร์และการแสดงสดในอินเดียมี BookMyShow ของกลุ่มทุน Reliance ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดถึง 3 ใน 4 โดยอันดับสองคือ Paytm
AMD ประกาศข่าวซื้อกิจการ ZT Systems บริษัทผู้ออกแบบระบบเซิร์ฟเวอร์ให้กับผู้ให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ ในราคา 4.9 พันล้านดอลลาร์
ชื่อของบริษัท ZT Systems อาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก แต่บริษัทก่อตั้งมานาน 29 ปีแล้ว (ก่อตั้งปี 1994 โดยเริ่มจากธุรกิจพีซี ภายหลังผันตัวมาทำเซิร์ฟเวอร์ในปี 2004) ปัจจุบันธุรกิจทั้งหมดของบริษัทเป็น B2B คือรับวางระบบเซิร์ฟเวอร์ให้กับคลาวด์และบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ โดย ZT Systems สามารถ "ผลิต" เครื่องเซิร์ฟเวอร์ได้เอง มีโรงงานของตัวเองในหลายประเทศ
PropertyGuru บริษัทให้บริการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศบรรลุข้อตกลงให้บริษัทการลงทุน EQT Private Capital Asia เข้ามาซื้อกิจการทั้งหมด มูลค่าดีล 1,100 ล้านดอลลาร์ โดยจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด
PropertyGuru เป็นบริษัทในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ซึ่งเข้าตลาดหุ้นด้วยวิธี SPAC ในปี 2022 โดยหลังจาก EQT ซื้อกิจการเสร็จสิ้น บริษัทจะถอนออกจากตลาดหุ้นต่อไป
Janice Leow พาร์ตเนอร์ของ EQT Private Capital Asia บอกว่าจากประสบการณ์ด้านการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี และระบบลงโฆษณาสินค้าออนไลน์ จึงมองว่าสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้ PropertyGuru ได้
Linktree บริการสร้างหน้ารวมลิงก์สำหรับใส่ใน Bio บนโซเชียล ประกาศซื้อกิจการ Plann แพลตฟอร์มสำหรับตั้งเวลาโพสต์คอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของดีลนี้
Plann จะยังให้บริการต่อไปตามปกติสำหรับลูกค้าปัจจุบัน โดย Linktree บอกว่าจะนำเครื่องมือของ Plann มาเพิ่มเติมให้ผู้ใช้งานสำหรับการตั้งเวลาโพสต์ แต่ยังไม่ได้บอกถึงแผนงานการนำเครื่องมืออื่นของ Plann มารวมอยู่ด้วยเช่น AI สร้างแคปชัน
Linktree บอกว่าการตั้งเวลาโพสต์โซเชียล เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานร้องขอมามากที่สุด จึงเป็นเหตุผลของการซื้อกิจการ Plann นั่นเอง
ที่มา: TechCrunch
Krafton บริษัทเกมเกาหลีใต้ ต้นสังกัดของ PUBG ประกาศซื้อกิจการสตูดิโอ Tango Gameworks ต่อจากไมโครซอฟท์ ส่งผลให้สตูดิโอ Tango ไม่โดนปิดแล้ว หลังไมโครซอฟท์ประกาศปิดสตูดิโอเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ร่วมกับสตูดิโออื่นในเครือ Bethesda
Tango Gameworks ถือเป็นสตูดิโอฝั่งญี่ปุ่นเพียงหนึ่งเดียวของไมโครซอฟท์ (ที่สืบทอดมาจากยุค Bethesda) สตูดิโอก่อตั้งเมื่อปี 2010 โดย Shinji Mikami ผู้สร้างซีรีส์ Resident Evil และตลอด 14 ปีที่ผ่านมา มีผลงานเกมออกมาทั้งหมด 4 เกมใหญ่คือ The Evil Within ทั้งสองภาค, Ghostwire: Tokyo และ Hi-Fi Rush
Hugging Face ประกาศซื้อกิจการ XetHub สตาร์ทอัปที่พัฒนาสตอเรจสำหรับงานแอพพลิเคชัน Machine Learning และ AI ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของ Hugging Face ได้
Yucheng Low ซีอีโอ XetHub กล่าวว่าวิสัยทัศน์ของ Hugging Face คือการนำโมเดล AI มาเผยแพร่ให้กับทุกคน ซึ่งต้องการพื้นที่รองรับการเก็บข้อมูลและการเข้าถึง การที่ XetHub เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Hugging Face จึงช่วยเติมเต็มวิสัยทัศน์นี้สำหรับอนาคตของ AI ได้ ส่วน Julien Chaumond ซีทีโอ Hugging Face บอกว่าความท้าทายจากนี้คือขนาด Repository ที่ใหญ่มากขึ้น ปัจจุบัน Hugging Face มี Repo ถึง 1.3 ล้านโมเดล, ข้อมูล 450k datasets, รีเควสวันละ 1B และแบนด์วิธที่ Cloudfront วันละ 6PB
CMA หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหราชอาณาจักร ได้อนุมัติดีลที่ Hewlett Packard Enterprise หรือ HPE ประกาศซื้อกิจการ Juniper Networks เมื่อเดือนมกราคมแล้ว หลังจากที่ CMA ประกาศเข้าสอบสวนดีลนี้เนื่องจากมองว่าเป็นการการลดการแข่งขันในตลาด โดยบอกว่าไม่มีข้อกังวลในเรื่องนี้
HPE ได้ประกาศแผนซื้อกิจการทั้งหมดของ Juniper Networks บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายเช่น เราเตอร์ สวิตช์ ซึ่ง HPE ต้องการนำมาเสริมกับสินค้ากลุ่มอุปกรณ์เครือข่ายที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ที่มา: Bloomberg
Canva ประกาศซื้อกิจการ Leonardo.AI หนึ่งในสตาร์ทอัปที่มาแรงในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Canva เช่นกัน ดีลดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยมูลค่าในการซื้อ โดยเป็นดีลซื้อกิจการแห่งที่สองในปีนี้ของ Canva ต่อจาก Affinity
Leonardo.AI เป็นบริษัทพัฒนาโมเดล Generative AI และทำงานด้านวิจัยโดยเฉพาะ มีโมเดลหลักคือ Phoenix ที่สามารถสร้างรูปภาพจาก Prompt ซึ่งมีรายละเอียดและสามารถนำไปใช้งานต่อได้ทันที แพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานลงทะเบียนมากกว่า 19 ล้านบัญชี ลูกค้ามีทั้งอุตสาหกรรมโฆษณา การตลาด ออกแบบ บันเทิง สถาปัตยกรรม แฟชั่น อีคอมเมิร์ซ และการศึกษา
Stripe แพลตฟอร์มสำหรับการจ่ายเงิน ประกาศซื้อกิจการบริษัทคู่แข่ง Lemon Squeezy โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่าในการซื้อกิจการนี้
Lemon Squeezy เป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาหลังบ้านของร้านค้า จุดเด่นคือการจัดการเรื่องภาษีการค้าสำหรับสินค้าดิจิทัล รวมทั้งจัดการส่วนที่เกี่ยวข้องกฎหมายภาษีแต่ละประเทศที่ไปขาย เน้นลูกค้ากลุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ SaaS ธุรกิจ
JR Farr ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Lemon Squeezy บอกว่านับตั้งแต่เปิดตัวบริการในปี 2021 บริษัทได้รับข้อเสนอซื้อกิจการ ตลอดจนการขอร่วมลงทุนจำนวนมาก การตัดสินใจขายกิจการให้ Stripe นั้น เป็นการเลือกพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสมที่สุดจะเดินหน้าต่อไปตามแนวคิดหลักคือทำให้การขายสินค้าดิจิทัลง่ายที่สุด
CNBC อ้างอีเมลภายใน Wiz ที่ส่งถึงพนักงาน ชี้แจงว่าตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ ว่า Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิลสนใจซื้อกิจการทั้งหมดของ Wiz ด้วยมูลค่าถึง 23,000 ล้านดอลลาร์ ล่าสุดบริษัทได้ปฏิเสธดีลดังกล่าวไปแล้ว พร้อมบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากมาก
Assaf Rappaport ผู้ร่วมก่อตั้ง Wiz บอกว่าบริษัทจะดำเนินตามแผนงานเดิมที่วางไว้ก่อนหน้านี้ที่กูเกิลจะมาเจรจาขอซื้อกิจการ นั่นคือนำบริษัทไอพีโอเข้าตลาดหุ้น และสร้างรายได้ระดับ 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
แหล่งข่าวบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ดีลนี้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากกลุ่มผู้ลงทุนใน Wiz มีความกังวลว่าดีลนี้จะถูกตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลประเด็นผูกขาด และอาจส่งผลกระทบต่อแผนงาน
Warner Bros. Games ประกาศซื้อกิจการบริษัท Player First Games สตูดิโอผู้พัฒนาเกมต่อสู้ MultiVersus ที่ใช้คาแรกเตอร์ของ Warner Bros. โดยดีลดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยมูลค่า
Player First Games จะยังคงดำเนินงานต่อไปภายในการบริหารของสองผู้ก่อตั้ง Tony Huynh และ Chris White ซึ่งทั้งสองคนจะขึ้นตรงกับ Carlos Barbosa หัวหน้าฝ่าย Warner Bros. Games
Warner Bros. Games ให้เหตุผลของดีลซื้อกิจการนี้ว่าหลังจากร่วมงานกับ Player First Games มาหลายปีในการสร้างเกม MultiVersus ก็ตัดสินใจดึงทั้งทีมมาเป็นส่วนหนึ่งของ Warner Bros. Games เพื่อต่อยอดด้านการพัฒนาเกม
Reuters รายงานอ้างอิงข้อมูลคนในว่า GitLab กำลังพิจารณาขายบริษัท โดยได้รับความสนใจจากหลายบริษัท แต่มีแค่ Datadog บริษัทแพลตฟอร์มมอนิเตอร์และเก็บข้อมูลความมั่นคงปลอดภัยประกาศ บริษัทเดียวเท่านั้นที่ Reuters อ้างชื่อ
Gitlab เริ่มต้นตั้งแต่เป็นแค่โปรเจ็คสตาร์ทอัพเมื่อปี 2011 ก่อนเข้าโครงการ Y Combinator เมื่อปี 2016 และเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2021 โดยมูลค่าบริษัทตอนนี้อยู่ที่ 8 พันล้านเหรียญ
ที่มา - Bloomberg
The Wall Street Journal อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องเผยว่า Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิล ใกล้ปิดดีลเจรจาซื้อกิจการ Wiz สตาร์ทอัปด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ด้วยมูลค่าที่สูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.31 แสนล้านบาท) โดยแผนซื้อกิจการน่าจะประกาศเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ หากดีลไม่เกิดปัญหาขึ้นมาก่อน
Alphabet มองว่าการซื้อ Wiz ซึ่งเป็นบริษัทความปลอดภัยที่มีจุดเด่นบนคลาวด์ จะนำมาเสริมจุดแข็งให้กับบริการคลาวด์ของกูเกิลได้ เพื่อหวังเพิ่มส่วนแบ่งในตลาด
SoftBank Group ซื้อกิจการ Graphcore บริษัทผู้ผลิตชิปเร่งความเร็วปัญญาประดิษฐ์สัญชาติอังกฤษ โดยไม่เปิดเผยมูลค่า
Graphcore ก่อตั้งในปี 2016 โดย Nigel Toon และ Simon Knowles สองคู่หูที่เคยก่อตั้งบริษัท Icera ผลิตชิปโมเด็ม 3G ซึ่งขายกิจการให้ NVIDIA ในปี 2011
ชิปของ Graphcore เรียกว่า Intelligence Processing Unit (IPU) เป็นชิปสำหรับประมวลผลแบบขนาน ประกอบด้วยชิปย่อยๆ จำนวนมากเพื่อให้ประมวลผล machine learning ได้ดี ในช่วงที่ผ่านมา มี Microsoft Azure นำชิปของ Graphcore ไปใช้งาน แต่ Graphcore กลับไม่ประสบความสำเร็จนักในยุค AI บูม (ยิ่งเมื่อเทียบกับผลประกอบการของ NVIDIA ที่ถือเป็นคู่แข่งโดยตรง) จนต้องหาทางออกด้วยการขายกิจการ
Duolingo ประกาศดีลซื้อกิจการ โดยเป็น Hobbes สตูดิโออนิเมชันและงานออกแบบภาพเคลื่อนไหว ซึ่งดีลนี้ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าที่เข้าซื้อ
Hobbes ไม่ได้เป็นธุรกิจใหม่สำหรับ Duolingo เพราะสองบริษัทนี้เป็นพาร์ตเนอร์กันมาแล้วระยะหนึ่ง ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งงานออกแบบอนิเมชันในแอป หลังดีลนี้สิ้นสุดทีมงานทั้งหมดจะมาอยู่ในแผนกใหม่ของ Duolingo ที่รับผิดชอบงานออกแบบภาพเคลื่อนไหวโดยเฉพาะ ดีลนี้จึงเป็นลักษณะการซื้อตัวทีมงาน 12 คน มากกว่าสินทรัพย์ของบริษัท
Ryan Sims หัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Duolingo บอกว่า ความสำเร็จของแอปนั้น การออกแบบมีส่วนสำคัญมาก โดยเฉพาะคาแรกเตอร์และอนิเมชันในแอป การได้ทีมงาน Hobbes มาเสริมทัพ จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใช้งานที่สนุก มีชีวิตชีวา กับผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น
AMD ประกาศแผนซื้อกิจการ Silo AI สตาร์ทอัปที่เน้นงานวิจัยด้าน AI จากฟินแลนด์ ด้วยมูลค่า 665 ล้านดอลลาร์ โดยดีลนี้ AMD จะจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด
AMD บอกว่าดีลนี้จะนำมาเสริมโซลูชันด้าน AI ของบริษัทให้แข็งแกร่งมากขึ้น โดยยังอิงพื้นฐานมาตรฐานเปิด และเสริมระบบนิเวศของการพัฒนาด้าน AI
Peter Sarlin ซีอีโอ Silo AI จะยังคงเป็นหัวหน้าทีมของ Silo AI ต่อไป ซึ่งย้ายมาอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจ AI ของ AMD ขึ้นตรงกับ Vamsi Boppana รองประธานอาวุโสของ AMD
Silo AI เป็นผู้ให้บริการโซลูชัน AI กับลูกค้าองค์กรทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพื่อนำ AI มาใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ตัวอย่างลูกค้าของบริษัทเช่น Allianz, Philips, Rolls-Royce และ Unilever
Accenture ประกาศเข้าซื้อบริษัท Excelmax บริษัทออกแบบชิปเฉพาะทางในอินเดียที่ออกแบบชิปใช้งานในงานหลากหลาย ตั้งแต่ยานยนตร์, ศูนย์ข้อมูล, ไปจนถึงงานด้านปัญญาประดิษฐ์
Excelmax เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันมีพนักงานที่ทำงานออกแบบชิปถึง 450 คน บริษัทให้บริการตั้งแต่การออกแบบระดับสูงไปจนถึง layout พร้อมส่งโรงงานผลิต ตลอดจนรับผลิตแบบ turnkey
Karthik Narain ประธานเจ้าหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ Accenture ระบุว่าในอนาคตชิปเฉพาะทางที่ประสิทธิภาพสูงจะเป็นสิ่งจำเป็นในงานหลายด้าน และการซื้อ Excelmax จะทำให้ Accenture ให้บริการลูกค้าได้ครบถ้วนขึ้น โดยก่อนหน้านี้ Accenture ก็เคยซื้อ XtremeEDA บริษัทออกแบบชิปในแคนาดามาเมื่อปี 2022
OpenAI ประกาศซื้อกิจการ Multi (ชื่อเดิม Remotion) สตาร์ทอัปแพลตฟอร์มทำงานร่วมกัน (collaboration) ที่โฟกัสวิดีโอเป็นหลัก และเน้นลูกค้าองค์กร
รายงานบอกว่าดีลดังกล่าว OpenAI ไม่ได้ต้องการซื้อแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือของ Multi แต่ต้องการซื้อตัวทีมงานพัฒนา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 คน มาร่วมงานกับ OpenAI ซึ่งทำให้ Multi จะปิดให้บริการตั้งแต่ 24 กรกฎาคม เป็นต้นไป
Multi ก่อตั้งโดย Alexander Embiricos อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่ Dropbox โดยตอนนี้เป็นซีอีโอ และ Charley Ho อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ที่กูเกิล ซอฟต์แวร์ Multi มีจุดเด่นเช่น การแชร์หน้าจอพร้อมกันสูงสุด 10 คน ในระหว่างการประชุม รวมถึงการแชร์เอกสารข้อมูลต่าง ๆ
Squarespace แพลตฟอร์มให้บริการสร้างเว็บไซต์ประกาศปิดดีลขายส่วนธุรกิจ Tock แพลตฟอร์มจองโต๊ะร้านอาหารให้กับ American Express ด้วยมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่เท่ากับที่ Squarespace ไปซื้อกิจการมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
การขายธุรกิจ Tock ออกมานั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ Squarespace ได้เจ้าของใหม่คือ บริษัทการลงทุน Permira ซึ่งมาซื้อกิจการทั้งหมดเมื่อเดือนที่แล้วด้วยมูลค่า 6,900 ล้านดอลลาร์
ในปี 2021 Squarespace ซื้อกิจการ Tock เข้ามา เพื่อเพิ่มเป็นเครื่องมือสำหรับลูกค้ากลุ่มร้านอาหาร-โรงแรม ให้สามารถเพิ่มระบบจองโต๊ะในเว็บไซต์ที่ใช้งานอยู่ได้อย่างสะดวก
OpenAI ประกาศดีลซื้อกิจการบริษัทอื่นเป็นครั้งแรก โดยจะซื้อกิจการ Rockset สตาร์ทอัปผู้พัฒนาฐานข้อมูล ที่มีจุดขายคือสามารถทำ Index ได้แบบเรียลไทม์ในสเกลระดับบนคลาวด์ รองรับการค้นหาวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้
OpenAI บอกว่าเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลของ Rockset จะนำมาเสริมกับโครงสร้างพื้นฐานของทุกผลิตภัณฑ์ใน OpenAI โดยพนักงานส่วนหนึ่งของ Rockset จะเข้ามาร่วมทีมกับ OpenAI
ดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่า โดยที่ผ่านมา Rockset ได้รับเงินจากนักลงทุนไปแล้วรวม 105 ล้านดอลลาร์
Mozilla ประกาศซื้อกิจการ Anonym สตาร์ตอัพด้านระบบข้อมูลสำหรับยิงโฆษณาออนไลน์ แบบเจาะจงตัวบุคคลไม่ได้ รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
Anonym ก่อตั้งในปี 2022 โดยอดีตผู้บริหารของ Meta สองราย โซลูชันของ Anonym คือการนำข้อมูลจากแพลตฟอร์มโฆษณา กับข้อมูลจากผู้ลงโฆษณา มาวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงของบุคคลที่ต้องการยิงโฆษณา (ตรงนี้เหมือนกับระบบโฆษณาทั่วไป) แต่จุดต่างคือทำในสภาพแวดล้อมปิดที่ปลอดภัย (secure environment) มีเทคนิคการลบข้อมูลส่วนตัว (anonymized) และอัลกอริทึมที่แทรก noise เข้าไปในข้อมูล เพื่อไม่ให้ตามรอยย้อนกลับได้ว่าบุคคลที่เห็นโฆษณาคือใคร
BeReal แอปโซเชียลที่มีลูกเล่นให้ผู้ใช้งานแชร์ภาพของตนกับเพื่อน ๆ โดยไม่ต้องตกแต่งภาพ ประกาศขายกิจการให้กับ Voodoo บริษัทผู้พัฒนาแอปและเกมของฝรั่งเศส ด้วยมูลค่าดีล 500 ล้านยูโร
BeReal ก่อตั้งในปี 2020 ก่อนแอปเป็นที่รู้จักในวงกว้างตั้งแต่ปี 2022 ด้วยลูกเล่นสุ่มเวลาโพสต์ภาพ แต่กระแสนี้ก็มาและไปในเวลาไม่นาน จากผู้ใช้งานมากกว่า 20 ล้านคนเมื่อปี 2023 ตัวเลขเหลือไม่กี่ล้านคน แม้พยายามออกฟีเจอร์มาดึงดูดผู้ใช้งานก็ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าอดีต
เมื่อเดือนมีนาคมมีรายงานว่า BeReal ประสบปัญหาการเพิ่มทุนรอบใหม่ และมีนักลงทุนบางรายเสนอให้ขายกิจการไปเลย จึงมาจบที่ดีลกับ Voodoo นี้
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า Humane สตาร์ทอัปที่ก่อตั้งโดยกลุ่มอดีตพนักงานแอปเปิล ผู้ผลิต AI Pin อุปกรณ์ติดเสื้อผู้ช่วยอัจฉริยะ ได้เริ่มเจรจาหาคนมาซื้อกิจการ หลังจากสินค้าตัวแรกที่ออกมาได้รับผลตอบรับไม่ดี ทำให้สถานการณ์ไม่ดีนัก
รายงานล่าสุดระบุว่าบริษัทที่สนใจซื้อกิจการคือ HP โดย Humane เสนอมูลค่ากิจการไว้ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามทั้ง Humane และ HP ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข่าวดังกล่าว
Google Cloud ประกาศซื้อกิจการบริษัท Cameyo ที่พัฒนาซอฟต์แวร์ virtualization เพื่อรันแอพวินโดวส์บน ChromeOS
ซอฟต์แวร์ของ Cameyo เรียกประเภทว่า virtual application delivery (VAD) ซึ่งเป็นการรันเฉพาะตัวแอพอย่างเดียว ต่างจาก virtual desktop infrastructure (VDI) ที่ต้องรันระบบเดสก์ท็อปทั้งตัวในสภาพแวดล้อมเสมือน แนวทาง VAD จึงมีประสิทธิภาพดีกว่า จัดการง่ายกว่า ปลอดภัยกว่า
Cameyo จับมือกับกูเกิลออกโซลูชันการรันแอพวินโดวส์บน ChromeOS มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยรองรับฟีเจอร์ของ ChromeOS อย่างระบบไฟล์และ clipboard หลังจากทดสอบกันพอใจแล้ว กูเกิลจึงตัดสินใจซื้อทีม Cameyo เข้ามาอยู่ในทีม ChromeOS Enterprise ในที่สุด